"วัดจันไปทางไหนครับป้า พอดีผมจะไปเที่ยว"

ผมถามคุณป้าที่ขายข้าวคลุกกะปิที่ตลาดพลูในช่วงบ่ายของวัน แน่นอนอุดหนุนป้าซะขนาดนี้ ไม่บอกทางกันก็ใจดำเกินไปแล้ว ป้าทำท่าชี้นิ้วบอกเดินจากนี้ไปไม่ไกลนักนะลูก เดี๋ยวก็เจอเอง ถ้าไม่เจอก็ถามคนแถวนั้นได้ สบายล่ะ เดินไม่ไกล ว่าแล้วก็สับตีนตัวเองไปยังวัด

วัดจันทารามวรวิหาร หรือวัดกลาง

วัดจันทารามวรวิหาร หรือวัดกลาง ที่ป้าที่บอกทางตะกี้เรียก ตั้งอยู่บนถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางยี่เรือกลาง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) ได้บูรณะขึ้นใหม่และได้รับพระราชทานนามเป็น วัดจันทาราม และต่อมาภายหลังได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชนิดวรวิหาร

วัดจันทารามวรวิหาร หรือวัดกลาง

เรื่องที่มาของชื่อ วัดกลาง ก็เพราะอยู่กลางระหว่างวัด 2 วัด คือวัดบางยี่เรือใน (วัดราชคฤห์ ปัจจุบัน) กับ วัดอินทาราม กล่าวคือ เมืองธนบุรีเดิมในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ที่วัดศาลา 4หน้า (วัดคูหาสวรรค์ ปัจจุบัน) ในคลองบางกอกใหญ่ จากเมืองเก่ามาก็ถึงวัดราชคฤห์ก่อนจึงเรียกวัดราชคฤห์ว่า "วัดบางยี่เรือใน เหนือ" ส่วนวัดจันทารามอยู่กลางจึงเรียกว่า "วัดบางยี่เรือกลาง" ถัดมาก็ถึงวัดอินทาราม จึงเรียกว่า "วัดบางยี่เรือนอก(ใต้)" ในสมัยโบราณนั้นไม่มีการตั้งชื่อวัดเป็นกิจจะลักษณะหรือเป็นทางการเหมือนอย่างในสมัยปัจจุบัน จะเรียกชื่อวัดจากที่ตั้ง ตำบล ที่ตั้งอยู่และถ้าตำบลนั้นมีหลายวัดด้วยกันและอยู่ใกล้กันเป็นลำดับซึ่งอาจกำหนดจากตัวเมืองได้ว่า "ใน" "กลาง" และ"นอก" ก็จะเรียกวัดที่อยู่ใกล้ว่า "วัดใน" วัดถัดไปก็เรียกว่า"วัดกลาง" และวัดสุดท้ายก็ เรียกว่า "วัดนอก" ตามแต่ที่จะเข้าใจกันตามยุคสมัยหรือเรียกตามสถานที่ 

วัดจันทารามวรวิหาร : วัดเก่าย่านตลาดพลู

วัดจันทาราม เป็นวัดโบราณมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ตามตำนานพระอารามหลวงโดยสังเขป พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ให้ข้อมูลที่ตรงกันคือ พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) เป็นผู้สร้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์แล้วได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดจันทาราม" แต่วัดนี้จะสร้างเมื่อไรไม่มีหลักฐานที่จะให้ค้นคว้าอ้างอิงได้

วัดจันทาราม

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในวัด  พระอุโบสถ เดิมเป็นโครงสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ต่อมาทรุดโทรมมาก พระวิสุทธิวราภรณ์ ได้ทำการบูรณะในปี พ.ศ. 2517 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2520 โดยเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นศิลปกรรมแบบจีน  ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน หล่อด้วยทองเหลืองปางมารวิชัย  หรือ ชนะมาร หรือ สะดุ้งมาร เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้

วัดจันทารามวรวิหาร : วัดเก่าย่านตลาดพลู

วัดจันทารามวรวิหาร : วัดเก่าย่านตลาดพลู

ตามประวัติเล่าถึงปางนี้ว่า พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม) ได้เสด็จไปประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ในเวลาเย็น และนั่งสมาธิกำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แต่จิตของพระองค์ แทนที่จะคิดไปในทาง โลกุตตรธรรม กลับหันไปคิดถึง โลกิยสุข แต่เมื่อครั้งอยู่ครองเรือน ในหนหลัง และผู้แต่งปฐมสมโพธิกถา ได้แสดงการผจญในโลกิยสุขของพระบรมโพธิสัตว์โดยใช้การผจญของมารเป็นสัญญลักษณ์ ดังนี้ว่าเป็น พระยาวัสสวดีมารซึ่งคอยติดตามพระองค์อยู่ จึงเข้าขัดขวาง โดยขี่ช้างคิรีเมขละ นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้ามารบกวน หวังให้พระองค์เกรงกลัวจะได้ลุกขึ้นเสด็จหนีไป แต่พระองค์ก็ยังประทับนิ่งเป็นปกติโดยมิได้ทรงหวั่นไหว พระยามารจึงโกรธมาก สั่งให้เสนามารกลุ้มรุมกันประหารพระองค์ พระองค์จึงทรงนึกถึงบารมี 30 ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญสั่งสมมาทุกชาติ โดยขอให้นางแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีจึงผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วบิดมวยผมจนน้ำท่วม กระแสน้ำก็พัดพาพวกเสนามารไปหมดสิ้น พระยาวัสสวดีมารจึงยอมแพ้หนีไป

นอกจากพระประธานแล้ว ที่สำคัญ ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรแบบครึ่งซีกทำด้วยไม้สัก ทรงเทริดบุด้วยตะกั่วอยู่ภายนอก ประทับยืนติดกับผนังพระอุโบสถด้านใน ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นพระพุทธรูปโบราณองค์หนี่ง นอกจากนี้ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะแบบจีน เครื่องสูงของจีนเขียนด้วยมืออาสาอย่างประณีต จึงได้อนุรักษ์ไว้ทั้งสภาพจิตรกรรมฝาผนังและลายเพดาน แต่ทางวัดขออนุญาตเพิ่มเติมส่วนที่ชำรุดไปโดยจะไม่เขียนภาพทับของเก่า จะหาช่างจากกรมศิลปากรที่เชื่อถือและรับรองให้เขียนภาพได้ จึงได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมดังที่ได้ปรากฏอยู่ขณะนี้