.. บนยอดเขาพนมรุ้ง ณ ความสูง 402 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ตั้งของปราสาทหินทรายสีชมพู นาม "ปราสาทหินพนมรุ้ง" ซึ่งโดดเด่นด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมขอม ขรึมขลัง ดูมีพลัง สันนิษฐานว่าปราสาทหินพนมรุ้งถูกสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 โดยนเรนทราทิตย์ ผู้เป็นต้นตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ผู้สร้างนครวัด)
ปราทสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าสู่จุดศูนย์กลาง คือปราสาทประธานที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดขึ้นสู่ปราสาทประธานคือพลับพลา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จขึ้นสักการะเทพเจ้าในปราสาทประธาน ถัดไปคือทางเดินทอดยาว ซึ่งสองข้างเรียงรายด้วยเสานางเรียง นำไปสู่สะพานนาคราช ที่เชื่อกันว่าเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับดินแดนของเทพเจ้า
เมื่อขึ้นไปถึงปราสาทประธานซึ่งก่อด้วยหินทรายสีชมพู จะพบความมหัศจรรย์ของการจำหลักหินเป็นลวดลายอ่อนช้อย โดยเฉพาะบริเวณหน้าบันและทับหลัง ที่จำหลักเป็นภาพเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น พระราม ในเรื่องรามเกียรติ์ พระศิวนาฏราช พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นต้น
นอกจากรูปแบบการวางผังและลวดลายการจำหลักหินแล้ว คติความเชื่อของการสร้างศาสนสถานขอมคือ สถานที่ตั้ง ซึ่งมักสร้างบนภูเขา ด้วยความเชื่อว่าปราทสาทหินเปรียบดังเทวาลัยของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลสำหรับปราสาทหินพนมรุ้งสร้างอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้ว
อีกหนึ่งมหัศจรรย์นอกเหนือจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของกลุ่มศาสนสถานแห่งนี้คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ตรงกับช่วงจัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง แสงแรกของดวงตะวันจะสาดส่องทะลุผ่านประตูทั้ง 15 ช่อง ดูงดงามและน่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง
การเดินทาง
จากอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้เส้นทางหมายเลข 24 ไปประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงสามแยกโรงเรียนบ้านตะโก แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ตรงไปอีกราว 6 กโลเมตร ถึงบ้านตาเป๊ก จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2221 อีก 6 กโลเมตร ถึงปราสาทหินพนมรุ้ง
ติดต่อสอบถาม
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลมพระเกียรติ์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31110 โทรศัพท์ 044-782 715
ททท. สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) เลขที่ 355/3-6 ถนนเทศบาล 1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ 32000 โทรศัพท์ 044 – 514 447 – 8