ย้อนกลับไปเมื่อซักราว 6 – 7 ปีที่แล้ว ผมยังเป็นเด็กฝึกงานของแมกกาซีนท่องเที่ยวแห่งนึงในจังหวัดอุดรธานี ครานั้นมีโอกาสได้หาข้อมูลท่องเที่ยวหลายแห่งด้วยกันในจังหวัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องราวของ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท รวมอยู่ด้วย 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

 

จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่า ผมเพิ่งมีโอกาสได้ไปเยือนแห่งนี้จริงๆ ครั้งแรก ทั้งๆ ที่จริง ตัวเองเกิดที่จังหวัดอุดรธานีแท้ๆ 

ผมออกเดินทางจากตัวจังหวัดอุดรธานีด้วยแมงกาไซค์กว่าระยะทาง 67 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) กิโลเมตรที่ 13 จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทาง 42 กิโลเมตร เลี้ยวขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีก 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2  กิโลเมตร ก็เป็นอันว่าถึง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหิน และเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

 

ทั้งนี้ สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหิน และเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

 

ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2000 – 3000 ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว – ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป

สำหรับไฮไลท์สำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาชมที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือ "หอนางอุสา" กันครับ 

"หอนางอุสา"  ต้นตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง นางอุสา-ท้าวบารส ที่ตั้งตระหง่านเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยมีลักษณะเป็นโขดหินลักษณะคล้ายรูปเห็ดตั้งอยู่บนลาน เกิดจากกัดกร่อนตามธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่าในสมัยก่อนมีคนไปดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ของนางอุสา รวมทั้งมีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบโขดหิน และหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตา และเพิงหินวัดลูกเขย ถ้ำ และเพิงหินต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ, ถ้ำโนนสาวเอ้, ถ้ำคน, ถ้ำวัวแดง (ถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน และมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปคน, รูปมือ, รูปสัตว์ และรูปลายเรขาคณิต)

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

นอกจาก หอนางอุสาแล้ว ก็ยังมี "พระพุทธบาทหลังเต่า" ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า "พระพุทธบาทหลังเต่า

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ส่วนหากใครมีเวลาเพิ่มเติม ก็สามารถแวะไปที่ "พระพุทธบาทบัวบก" ต่อได้ โดยจะตั้งอยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 มีรอยพระพุทธบาท ประดิษฐานภายในพระธาตุเจดีย์ มีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ  60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร  และในพนะบรมธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยว ภายในอุทยานฯ จะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้บริการข้อมูลตลอดจนแผนที่ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 4225 0616, 0 4225 1350 เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยวชาวไทยราคา 10 บาท และชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท  

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

นับได้ว่าอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ จัดเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ และน่าสนใจ ของเมืองอุดรธานี ที่ทุกคนไม่ควรพลาดกันครับผม

เพราะถ้าพลาดแล้ว ท่านอาจจะเสียใจ ที่ไม่ได้มาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว