ลอดประตูพิสูจน์ความเชื่อ @ ประตูชุมพล

สถานที่ตั้ง : ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
พิกัด : 14.974741, 102.098095

ประตูชุมพล ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

    ประตูเมือง กำแพงเมือง และคูเมืองนครราชสีมา เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของตัวเมืองนครราชสีมา ที่ได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันมีประตูชุมพลที่ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองย่าโม

    ประตูเมืองมีอยู่ 4 ประตู โดยบริเวณซุ้มประตูเมืองจะมีหอยามรักษาการณ์เป็นรูปแบบทรงไทยโบราณศิลปะสมัยอยุธยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันหมดทุกแห่ง มีชื่อเรียกประตูเมืองทั้ง 4 นี้ว่า ประตูชุมพล ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ เมื่อระยะเวลาผ่านไปสิ่งก่อสร้างบางอย่างได้ผุกร่อนไปตามกาล โดยเฉพาะเมื่อครั้งเหตุการณ์เปิดศึกกับเจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทน์ ที่ได้เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ประกอบกับสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ เช่น แสงแดด ลม ฝน ได้ทำลายประตูเมืองให้เสียหายชำรุดทรุดโทรมลงจนเหลือเพียงประตูเดียวคือ “ประตูชุมพล”

ประตูชุมพล ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

    ประตูชุมพล เป็นประตูเมืองทางทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่า เป็นประตูเมืองเพียงแห่งเดียวในบรรดาประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตูของเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่พร้อมกำแพงเมืองเก่า สำหรับชื่อประตู "ชุมพล" นั้นหมายความถึงที่ชุมนุมพล เป็นประตูสำหรับเตรียมไพร่พลออกศึก เนื่องจากมีภูมิประเทศเปิดกว้างไม่มีป้อมปราการตามธรรมชาติเหมือนประตูอื่นๆ ในอดีตมีความเชื่อว่าเมื่อลอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกแล้ว จะได้กลับบ้านเมืองอย่างปลอดภัย

ประตูชุมพล ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา


   
    เนื่องจากตัวเมืองปัจจุบันได้มีขยายออกไปยังบริเวณรอบนอกไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของเขตเมืองเก่าเดิม ส่งผลทำให้ปัจจุบันประตูชุมพลจึงเสมือนตั้งอยู่กลางเมือง ต่อมาทางหน่วยราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้วนำมาประดิษฐานบนแท่นสูงตรงบริเวณหน้าประตูชุมพล ซึ่งได้มีการถมคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกบางส่วน เพื่อทำเป็นพื้นที่ก่อสร้างสำหรับหอ ยามรักษาการณ์ทรงไทย ประตูเมืองและกำแพงเมืองโบราณที่ชำรุดทรุดโทรมพังลงไปมากนั้น ทางราชการได้บูรณะซ่อมแซมและสร้างขึ้นมาใหม่บางส่วน โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและศิลปะการก่อสร้างตามของเดิมไว้ทั้งหมด พร้อมกับได้อัญเชิญ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มาประดิษฐาน ณ บริเวณที่ปัจจุบัน ตราบเท่าทุกวันนี้

ประตูชุมพล ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

    ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน “ประตูชุมพล” เป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 และ “กำแพงเมืองโคราช” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 ซึ่งประตูชุมพลแห่งนี้ยังมีความเชื่อของใครหลายๆ คนว่า “หากได้ลอดประตูนี้ 1 ครั้งจะได้กลับมาโคราชอีกเร็วนี้ หากได้ลอด 2 ครั้งจะได้ทำงานหรือมาอยู่ที่โคราช และหากได้ลอดถึง 3 ครั้งก็จะได้คู่ครองเป็นคนโคราช” เป็นความเชื่อส่วนบุคคล หากอยากเป็นลูกหลานย่าโม ก็ลองไปพิสูจน์กันดู ได้ผลประการใดกลับมาบอกต่อด้วยเด้อ

ประตูชุมพล ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา


by Traveller Freedom