บันทึกการเดินทาง ครั้งหนึ่งในชีวิต พิชิตดอยหลวงพะเยา 

สถานที่ตั้ง : หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยหลวงที่ 6 (จำปาทอง) ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
โทรศัพท์ : 053 163 363 (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยหลวง)
พิกัด : 19.321641, 99.706131

   


    ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยมีซ้ำกันมากมาย โดยเฉพาะชื่อพื้นฐานที่คนท้องถิ่นนิยมตั้งกัน เช่น “ดอยหลวง” หรือ “เขาหลวง” หรือ “เขาใหญ่” ซึ่งต่างก็มีความหมายเดียวกัน คือหมายถึง “ภูเขาที่มีขนาดใหญ่” และเพื่อเป็นการป้องกันการกล่าวหรือพูดถึงสถานที่ที่มี “ชื่อ” ซ้ำกัน แต่อยู่คนละแห่งกัน จึงต้องมีการต่อท้ายให้เสมือนเป็น “นามสกุล” เข้าไป อย่างเช่น เขาหลวงสุโขทัย ที่เคยบันทึกเรื่องราวการเดินทาง ณ สถานที่แห่งนั้นไปแล้ว และรวมถึงบันทึกการเดินทางครั้งล่าสุดนี้ ที่จะเล่าเรื่องราวถึง .. ดอยหลวงพะเยา

    ดอยหลวงพะเยา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่รอยต่อของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง และจังหวัดพะเยา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้ยกฐานะมาจาก วนอุทยานน้ำตกจำปาทอง วนอุทยานน้ำตกผาเกล็ดนาค วนอุทยานน้ำตกปูแกง และวนอุทยานน้ำตกวังแก้ว รวม 4 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนป่าเดียวกัน

มีสภาพธรรมชาติและจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ โดยค่อนข้างสูงขึ้นจากทางเหนือลงมาทางใต้ โดยมีจุดสูงสุดคือ “ยอดดอยหลวง” ซึ่งมีความสูง 1,694 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสภาพดินเป็นดินลูกรังผสมหินโดยเฉพาะบนยอดเขา ส่วนบริเวณหุบเขาจะมีดินสีดำอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และหินมีลักษณะเป็นหินกรวดหรือหินปูนทราย เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำวัง และลำน้ำสายย่อยหลายสายที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา

    ดอยหลวงพะเยา เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดที่ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาดอยหลวง ภายในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งมีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แต่ยอดดอยหลวงอยู่ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพะเยากับจังหวัดลำปาง การขึ้นสู่ยอดดอยหลวงพะเยาต้องอาศัยการเดินเท้าเท่านั้น จัดเป็นการเดินป่าระยะกลาง

สามารถเดินได้ใน 3 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางที่ 1 เริ่มต้นที่บ้านห้วยหม้อ, เส้นทางที่ 2 เริ่มต้นที่บ้านปากบอก และเส้นทางที่ 3 เริ่มต้นทางที่บ้านปงถ้ำ ซึ่งจะมีระยะทางอยู่ระหว่าง 8-13 กิโลเมตร นักเดินไพรจะต้องใช้เวลา 2 วัน 1 คืน เป็นอย่างน้อย ยกเว้นว่าใครรีบ จะขึ้น-ลงในวันเดียวกันก็ตามใจ หรือติดใจอยากอยู่ข้างบนนานๆ ก็จัดไป 3 วัน 2 คืน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ 2 วัน 1 คืนนี่แหละกำลังงาม 

เส้นทางเดินขึ้นสู่ดอยหลวงพะเยาทั้ง 3 เส้นทางนั้นมีระยะทางที่ต่างกัน และก็มีระดับความชันมากและมากยิ่งกว่าที่ต่างกันด้วย โดยมีรายละเอียดแต่ละเส้นทาง ดังนี้

    เส้นทางที่ 1 บ้านห้วยหม้อ จะตั้งอยู่ในตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เส้นทางนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้รับการจัดการโดยชาวบ้านตำบลบ้านตุ่น และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยหลวงที่ 6 (จำปาทอง) เส้นทางนี้มีระยะทางเดิน 8 กิโลเมตร 


    เส้นทางที่ 2 บ้านปากบอก ตั้งอยู่ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เส้นทางนี้จะไกลที่สุด มีระยะทาง 10 กิโลเมตร แต่เป็นเส้นทางไต่สันเขาที่มีจุดเริ่มเดินตั้งต้นบนแนวเทือกเขา ทำให้มีความชันน้อยที่สุดในสามเส้นทาง จุดนัดพบของเส้นทางนี้จะอยู่ที่บริเวณริมถนนสายพะเยา – วังเหนือ หรือถนนทางหลวงหมายเลข 120  แต่ทางลงจะไปสิ้นสุดที่บ้านห้วยหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 


    เส้นทางที่ 3 บ้านปงถ้ำ ซึ่งเส้นทางบ้านปงถ้ำนี้จะเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ตั้งอยู่ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เช่นเดียวกันกับบ้านปากบอก เส้นทางนี้บริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุด จึงเป็นอีกเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของนักเดินไพร ว่าเดินทางมากจากที่ไหน และเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการใด เนื่องจากมีให้เลือกทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่และต่างพื้นที่

    นอกจากดอยหลวงพะเยาจะเป็นหลังคาของเมืองพะเยา หรือจุดที่สูงที่สุดของตัวเมืองพะเยาแล้ว บนแนวเทือกเขาเดียวกันยังมีภูเขาหินอันซีนน่าปีนยิ่งนัก ชื่อว่า “ดอยหนอก” ซึ่งดอยหินปูนนี้ถือเป็นไฮไลท์ของการพิชิตยอดเขาแห่งนี้เลยก็ว่าได้ เมื่อมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเด่นชัดขนาดนี้แล้ว ทริปนี้ผมจึงได้ร่วมเดินทางไปกับผู้ประกอบการนำเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร โดยที่ผมเดินทางจากเชียงใหม่ไปสมทบ ณ จุดนัดพบที่ตัวเมืองพะเยา

    แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ติดต่อกับผู้ประกอบการท้องถิ่น มีข้อควรทราบเบื้องต้นว่าทางพื้นที่บนดอยหลวงพะเยาไม่มีสิ่งอำนวย ความสะดวกใดๆ ไว้เลย  ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องเป็นผู้รักธรรมชาติ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว มีความพร้อมที่จะเดินป่าระยะไกล และรักในการผจญภัย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเตรียมอุปกรณ์และของใช้ส่วนตัว ได้แก่ การแต่งกายด้วยชุดรัดกุม ใส่รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าเดินป่า กระเป๋าสัมภาระใส่ของส่วนตัว ยารักษาโรค เช่นยาแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย แก้พิษแมลง กระติกใส่น้ำดื่ม กล้องส่องทางไกล หรือกล้องถ่ายรูป (หรือยุคใหม่ใช้แต่มือถือก็ถ่ายรูปสวยได้เหมือนกัน) ไฟฉาย ถุงนอน เต็นท์ อาหารแห้ง หรืออาหารกระป๋อง เป็นต้น

บ้านห้วยหม้อ เป็นเส้นทางที่ผมเลือกเดินทางเพื่อพิชิตดอยหลวงพะเยาในทริปนี้ ..เช้าตรู่ในวันแรกของการเดินทาง คณะที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร เดินทางมาถึงเมืองพะเยาเวลาประมาณ 7 โมงเช้า ผมได้เดินทางมารออยู่ก่อนแล้ว จากนั้นจึงได้รวมกลุ่มกันเดินทางไป ณ บ้านห้วยหม้อ ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยหลวงที่ 6 (จำปาทอง) พร้อมทั้งแบ่งสัมภาระให้ลูกหาบ และใช้เวลาในการเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เตรียมความพร้อมของกระเป๋าสะพาย รวมถึงอาหารที่ต้องใช้ทานในระหว่างการเดินทาง


 
    จากนั้นรถอีแต๊กได้นำพาผู้ร่วมทริปทุกคนเคลื่อนย้ายไป ณ จุดเริ่มต้นเดินเท้าที่ตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ถึงเวลานี้ทุกคนพร้อมที่จะเดินป่าพิชิตดอยหลวงพะเยา กลุ่มว่าที่ผู้พิชิตจำนวน 19 ชีวิต ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้โดยสารรถตู้มาจากกรุงเทพมหานครจำนวน 15 คน นักเดินป่าจากอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 3 คน และผม หนึ่งเดียวคนนี้ที่เชียงใหม่ส่งเข้าประกวด อีก 1 คน มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาเป็นหัวหน้านำทาง พร้อมด้วยลูกหาบอีกจำนวนหนึ่ง ที่รับหน้าที่แบกอุปกรณ์การทำอาหารมื้อเย็นและมื้อเช้าของวันพรุ่งนี้

    ผมและเพื่อนร่วมทริปเริ่มออกเดินเวลา 9 โมง 15 นาที แรกเริ่มเดินเท้าอย่างพร้อมเพรียงเรียงเป็นแถวเดียว แต่ผ่านไปได้ไม่นาน เริ่มมีการเดินแยกแตกแถวด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอาการเหนื่อยล้าที่ต่างคนต่างมาไม่พร้อมกัน บางคนมามากบางคนมาน้อย ส่วนผมเองก้าวเท้าเดินด้วยความเหนื่อยล้า แต่ก็ยังเกาะกลุ่มหน้า ที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่นำทางพร้อมเพื่อนร่วมทริปอีก 6 คน เส้นทางเดินช่วงต้นเป็นป่าทึบ อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ให้ความร่มรื่นปราศจากแสงแดดส่องผ่าน ช่วงต้นนี้จะมีอุปสรรคคือกองทัพยุง ซึ่งมีประชากรเยอะมาก คอยดักดูดเลือดนักเดินป่า ใครป้องกันมาดีก็โดนน้อยหน่อย ใครไม่ได้ทายากัน ใส่เสื้อผ้าที่ปิดเนื้อกายน้อย โดยเฉพาะกางเกงขาสั้นก็โดนไปเต็มๆ

    ด้วยระยะทางที่ยาวไกลทำให้ตลอดเส้นทางจะพบเห็นสภาพป่าถึง 5 ชนิด ทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแห้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา เส้นทางเดินเริ่มลาดชันมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มผมหยุดพักกันเป็นระยะๆ จุดแรกเป็นอดีตน้ำตก ที่ปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นเพียงโขดหินเวิ้งว้าง มีแอ่งน้ำเล็กๆ พอจะให้ยุงได้วางไข่ และนั้นทำให้พวกเราต้องรีบเดินต่อไป พักอีกครั้งบริเวณเนินหิน ซึ่งต้องบอกเลยว่า ณ จุดๆ นั้น เหนื่อยมาก นอกจากนี้ระหว่างทางผมยังได้เจอ “เห็ด” ที่มีหลากหลายรูปร่างและสีสัน จะรับประทานได้หรือไม่ได้นั้นคงต้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย

เดินมาได้สักระยะหยดน้ำจากเบื้องบนก็เริ่มโปรยปรายลงมา เริ่มจากเบาะๆ จนเพิ่มLevelหนักขึ้นเรื่อยๆ ฝนตกถือเป็นอุปสรรคที่นักเดินป่าหน้าฝนจะต้องเผชิญ ซึ่งนอกจากจะเป็นรสชาติของชีวิตแล้ว ยังถือเป็นการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา ช่วยเหลือ เกื้อกูลและแบ่งปันมันส์ไปอีกแบบ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่เป็นดั่งผู้นำทาง หัวหน้าทีม และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ได้นำ Fly Sheet ผ้าใบกันฝนผืนใหญ่มาขึงดึงกับต้นไม้ โดยที่เราทั้ง 7 คน ช่วยกันดึงเชือกให้ตึงไปคนละฝั่ง ..ถึงแม้วิธีดังกล่าวจะช่วยให้ผ่านพ้นจากฝนที่ตกอย่างหนักหน่วงได้ในขณะนั้น แต่มันก็สายไปซะแล้ว เพราะกว่าที่เจ้าหน้าที่ของเราจะนึกขึ้นได้ว่านำ Fly Sheet ติดตัวมาด้วย พวกเราและสัมภาระก็เปียกปอนหงอนไก่กันไปตามๆ กัน

    กลุ่มของผมก้าวเดินมาจนถึงสันเขาบนเทือกเขาดอยหลวง โดยมาถึงเวลา 14.40 น. ณ จุดๆ นี้ พวกเราทั้งดีใจและตื่นตากับวิวทะเลภูเขาเบื้องหน้า นอกจากนี้ยังโชคดีได้พบกับ “หมออิม” ทันตแพทย์หญิงนภัสพร ชำนาญสิทธิ์ สาวไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ หญิงแกร่งคนนี้ถือเป็นไอดอลของนักเดินป่าหลายๆ คน พวกเราไม่พลาดที่จะเก็บภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

    แม้จะขึ้นมาจนถึงเส้นทางเดินไต่สันเขาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่หมดทางชัน ผมยังคงต้องเกร็งน่องขาก้าวต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อพิชิตยอดดอยหลวง หลังคาแห่งเมืองพะเยา บริเวณสันเขาแคบๆ ที่มีลักษณะคล้ายเขาช้างเผือกนี้ชาวบ้านเรียกว่า “สันหมูแม่ด้อง” ซึ่งตอนนี้ผมกำลังเดินบนเส้นแบ่งเขตจังหวัดลำปางกับจังหวัดพะเยา ณ จุดๆ นี้ต้องเดินอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีหญ้าขึ้นรกจนบางทีอาจมองไม่เห็นทางเดิน

นอกจากนี้ผมยังโชคดีได้เจอดอกกุหลาบพันปีสีขาว ซึ่งส่วนใหญ่ที่เคยพบเห็นบนดอยอินทนนท์กับดอยผ้าห่มปก จะบานให้เห็นในช่วงฤดูหนาว แต่บนดอยหลวงพะเยาแห่งนี้มีให้เห็นในช่วงหน้าฝนซะงั้น แปลกแหวกแนวมาก 

    และในที่สุดผมและเพื่อนร่วมทริปก็เดินมาถึงเป็นกลุ่มแรก ในเวลา 14.55 น. เป็นอันว่าผม “พิชิตดอยหลวงพะเยา” บนความสูง 1,694 เมตรจากระดับน้ำทะเล ได้เป็นผลสำเร็จ จากยอดดอยหลวงเดินต่อไปอีกเพียงนิดเดียวก็จะถึงลานกางเต็นท์

ซึ่งวิวทิวทัศน์บริเวณนี้สามารถมองเห็นตัวเมืองพะเยา กว๊านพะเยา รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ต้นทางที่เดินขึ้นมา ถือเป็นยอดวิวที่สวยงามท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นสบายบนความสูง 1,600 เมตร แม้จะไม่ถึงกับเป็นลานกานเต็นท์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย แต่หากเทียบกับหลายๆ สถานที่ที่เคยไปกางเต็นท์มา ผมยกให้ตรงนี้วิวงดงามที่ 1 เลย

กลุ่มที่เดินตามหลังก็ทยอยกันมาถึงจนครบ จากนั้นผู้พิชิตทุกคนต่างมุ่งมั่นเดินหาทำเลกางเต็นท์กันจนเสร็จเรียบร้อย เย็นวันนี้มีลมแรงพัดโกรกไปมา หลายคนจึงหนีหนาวไปแอบอุ่นในถุงนอน อีกหลายคนเดินเก็บภาพบนดอยหลวงพะเยา

ในขณะที่ทีมงานส่วนหนึ่งกำลังบรรเลงเพลงครัว ประกอบอาหารมื้อเย็นให้พวกเราได้รับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ด้วยเมนูง่ายๆ แต่เปี่ยมไปด้วยรสชาติและคุณภาพที่ต้องขอเติม จนอิ่มหนำไปตามๆ กัน ในค่ำคืนนี้นอกจากจะมีดวงดาวแพรวพราวเต็มท้องฟ้าแล้ว ยังมี “ดาวบนดิน” แสงไฟระยิบระยับของเมืองพะเยาให้ชมเป็นของแถมอีกด้วย

    รุ่งขึ้นผมตื่นแต่เช้าทันชมแสงแรกแห่งวันสาดส่องเหนือเมืองพะเยา เช้านี้ลมยังคงพัดแรงต่อเนื่องจากเมื่อวาน ประกอบกับความชื้นจากสายฝนที่โปรยปรายเมื่อวันวาน ทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ทะเลหมอกไหล” จากฝั่งจังหวัดลำปางข้ามสันเขามาฝั่งจังหวัดพะเยา

ผมและเพื่อนร่วมทริปต่างพร้อมใจกันรัวชัตเตอร์ พร้อมทั้งบันทึกภาพเคลื่อนไหวการไหลของสายหมอกเก็บไว้เป็นความทรงจำที่น่าประทับใจ บอกได้เลยว่าดวงตาคือการบันทึกความทรงจำที่มีคุณค่ามากที่สุด ภาพถ่ายใดเล่าถึงจะสู้การมาพบเห็นด้วยตาของตัวเอง

    หลังจากสูดลมหายใจกลืนทะเลหมอกจนชุ่มปอดแล้ว ก็ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าจากฝีมือของยอดกุ๊กทีมงานเดิม เมื่อทานเสร็จเรียบร้อยแล้ว นักเดินไพรต่างทยอยกันเก็บเต็นท์และสัมภาระพร้อมออกเดินทางกันต่อ

เพราะนอกจากยอดดอยหลวงพะเยาแล้ว บริเวณใกล้เคียงจะได้พบกับดอยหนอก ซึ่งเป็นหน้าผาหินปูนสูงชันตั้งเด่นเป็นสง่า มีความสูง 1,077 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจะมีลักษณะคล้ายหนอกบนหลังวัว ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ดอยหนอก


    ดอยหนอก ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาดอยหลวง มีลักษณะนูนขึ้นมาเป็นรูปรีคล้ายโหนกวัว เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันสามารถมองเห็นได้จากเบื้องล่างทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ทิศเหนือของถนนพหลโยธินสายพะเยา – เชียงราย

การพิชิตยอดอยหนอกถือเป็นไฮไลท์ของทริปนี้ ซึ่งแม้จะมีความสูงน้อยกว่าดอยหลวงพะเยา แต่มีความมันส์อยู่ที่การได้ “ปีน” ถือเป็นการวัดใจสำหรับคนกล้าท้าความสูง และวัดแรงกายของกำลังแขน และทักษะการทรงตัวบนพื้นหินแนวดิ่ง งานนี้สายปีนอย่างผมยิ้มแป้นเลยทีเดียว

ผมและเพื่อนกลุ่มเดิม ออกเดินเท้าจากลานกางเต็นท์เวลา 8.30 น. เส้นทางเดินไปตามสันเขา ฝั่งซ้ายเป็นจังหวัดลำปาง ฝั่งขวาเป็นจังหวัดพะเยา เช้านี้อากาศดีมีความสวยงามของแสงแดดและหมอกอ่อนๆ ทำให้มีการหยุดถ่ายรูปเก็บภาพความสวยงามของธรรมชาติกันเป็นระยะๆ ตลอดทาง โดยมีเพื่อนร่วมเส้นทางเป็นนักวิ่งเทรล ช่วยแต่งแต้มเพิ่มสีสันให้กับการเดินป่าในครั้งนี้

    และแล้วก็ถึงเวลาของความมันส์ที่รอคอย ปีนโขดหินพิชิตดอยหนอกที่มีพร้อมกับความชันตั้งฉากระดับ 90 องศา โดยจะมีเชือกสลิงให้ห้อยติงอยู่เป็นระยะ กระเป๋าสัมภาระถูกวางไว้ด้านล่าง ปีนขึ้นมาตัวเปล่าเบาหวิว งานนี้ใช้กำลังแขนอย่างเดียว จับเชือกให้มั่น สาวมือให้เป็นจังหวะ ขอเพียงอย่าพลาดปล่อยมือไปก็แล้วกัน แล้วจะรอดปลอดภัยขึ้นมาถึงจุดหมายอย่างแน่นอน

    ผมและเพื่อนร่วมทริปขึ้นมาพิชิตบนยอดโขดหินปูนขนาดมหึมานาม “ดอยหนอก” ได้เป็นผลสำเร็จ บนยอดเขามีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามความเชื่อความศรัทธาของคนในพื้นที่ มีโบราณสถานที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาได้ประดิษฐานพระบรมธาตุบรรจุไว้ภายในเจดีย์ รวมถึงธงหลากสีที่ร้อยเรียงอยู่ตามเชือกที่มุงเป็นหลังคาทรงโดม หลายคนที่ได้เห็นมักจะพูดเป็นเสียงด้วยกันว่า นี่คือ ..ชัมบาลาเมืองไทยชัดๆ

    เมื่อชื่นชมกันจนเต็มอิ่มแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องไต่ลง แม้จะยังไม่หนำใจ อยากอยู่บนนี้ไปอีกนานๆ แต่ก็จำเป็นต้องลงเพื่อเดินทางกลับ “ความสุขมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และจบลงเร็วเสมอ” พวกเราต้องนั่งรอสักครู่หนึ่งเพื่อให้กลุ่มที่ตามมาปีนขึ้นได้อย่างสะดวก เสมือนการรอสับรางรถไฟ

หลังจากลงดอยหนอกแล้ว สัมภาระที่หนักหน่วงกลับขึ้นสู่กระดูกสันหลังดั่งเดิม จากนั้นต้องก้าวเท้าเดินต่อไประยะทาง 12 กิโลเมตร โดยมีจุดหมายปลายทางคือจุดสิ้นสุดของเส้นทางพิชิตดอยหลวงพะเยา เส้นทางเดินลงเป็นทางลาดชันหลายช่วง ขนานไปกับทางไหลของน้ำตกผานางจูบ และน้ำตกผาเกล็ดนาค ทำให้มีโอกาสได้นั่งพักล้างหน้าล้างตาคืนความสดชื่นได้เป็นระยะ เจ้าหน้าที่บอกว่าปกติบริเวณนี้มีทากเยอะ แต่การมาของผมครั้งนี้ไม่เจอทากเกาะสักตัว ..ถือเป็นโชคดี และในที่สุดผมก็เดินลงมาจนถึงจุดสิ้นสุดเส้นทางพิชิตดอยหลวง-ดอยหนอก เป็นอันจบทริปอย่างสมบูรณ์

บันทึกการเดินทาง โดย Traveller Freedom