วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ที่พุทธศานิกชนนับถือ และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันดี  ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า กรมศิลปากรได้ประกาศ จดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_1

ตามประวัติความเป็นมาเล่าว่า เดิมเป็นวัดพุทธาวาสประจำเมือง ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา เป็นธุระของชาวเมืองเจ้าเมืองและคณะสงฆ์ตลอดทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปในภาคใต้ร่วมกันบำรุงรักษา รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า เป็นมหาเจดีย์ของชุมชนพุทธในภูมิภาคเช่นเดียวกับมาหาเจดีย์อื่น ๆเช่น พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม ที่ไม่สร้างในตัวเมืองใด แต่สร้างไว้นอกเมืองเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกไม่จำกัดเมือง โดยเมืองที่สร้างหรือยู่ใกล้ได้รับฐานะเป็นผู้ดูแลรักษาและได้รับการยอมรับเป็นศูนย์กลางโดยปริยาย เฉพาะที่พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชนั้นนอกจากมีคณะสงฆ์ลังกาแก้วที่วัดตะเขียนบางแก้ว เมืองพัทลุง และคณะสงฆ์กาชาดที่วัดพะโคะ สงขลาแล้ว ยังมีระบบการดูแลรักษาโดยตั้งพระเถระผู้ใหญ่ของเมือง 2 รูป หัวหน้าผู้รักษาพระบรมธาตุ (พระครูเหมเจติยานุรักษ์-ผู้รักษาเจดีย์ทอง และพระครูเหมเจติยาภิบาลพระผู้ดูแลเจดีย์ทอง) ร่วมกับพระครูกาแก้ว-การาม – กาชาด – กาเดิม ที่ทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุทางทิศต่าง ๆ พระบรมธาตุเจดีย์เพิ่งจะอยู่ภายในตัวเมืองในสมัยอยุธยาเมื่อย้ายเมืองจากเมืองพระเวียงทางตอนใต้มาสร้างกำแพงเมืองใหม่ครอบคลุมองค์พระบรมธาตุเจดีย์ไว้

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_2

ในสมัยรัชการลที่ 5 พระบรมธาตุเจดีย์มีสภาพถูกทอดทิ้งทรุดโทรมมาก พระภิกษุปานอาสานำชาวใต้และชาวนครทำการซ่อมแซมครั้งสำคัญระหว่างปี พ.ศ. 2437 – 2441 จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล เรียกชื่อทั่วไปว่า วัดพระบรมธาตุ วัดพระบมรธาตุ วัดพระมหาธาตุ ต่อมาในคราวเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ. 2458  รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามอย่างเป็นทางการเพื่อการจัดระเบียบวัดหลวงไม่ให้ชื่อพ้องพระอารามหลวงที่มีมหาเจดีย์ในภาคใต้ว่าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พร้อมกับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30กันยายน พ.ศ.2458 โดยรวมเอาวัดร้างทางทิศเหนือ (วัดมังคุด) และใต้ (วัดพระเดิม) รวมเข้าด้วย โดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุระหว่างปี พ.ศ. 2533-2534  และการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุระหว่างปี พ.ศ. 2537-2538 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_3

 

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนะครับ มีพระบรมธาตุเมืองนคร (ทรงลังกา) มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” ขณะที่ยามแสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอดไม่ถึงพื้น จนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงทำให้ได้รับการเขียนขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_4 วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_5

ทั้งนี้ ที่วัดมหาธาตุ จะมีประเพณีผ้าขึ้นธาตุ อันหมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา โดยชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ซึ่งประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_6
นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้ 

พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช เป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และงดงามด้วยศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตัก 3 วา 1 ศอก 12 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชี พร้อมด้วยพระอัครสาวก ซึ่งเป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานต่างๆ จากที่อื่นๆ เพราะตั้งไว้ค่อนข้างกลางพระวิหาร

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_7
      
พระเหมชาลาและธนกุมาร ตั้งอยู่หน้าพระวิหารตรงหน้าซุ้มประตูเยาวราช ตามตำนานระบุว่าพระธนกุมารเป็นเจ้าชายอินเดีย พระนางเหมชาลาเป็นพี่สาวพระธนกุมาร ทั้งคู่เป็นผู้อัญเชิญพระทันตธาตุมายังดินแดนนี้ ก่อนจะอัญเชิญต่อไปยังลังกา โดยได้แบ่งบางส่วนกลับมาประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเมืองนคร 

ซุ้มพระเจดีย์-พระวิหารคด เป็นซุ้มเจดีย์หน้าทางเข้าวิหารคด ศิลปะศรีวิชัยมีหลายเรือนยอด(แบบเดียวกับพระธาตุไชยา) เชื่อว่าอาจจะเป็นแบบดั้งเดิมขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ส่วนพระวิหารคดนั้นน่ายลไปด้วยพระพุทธรูปจำนวนมากที่ประดิษฐานอยู่เรียงราย และมีบาตรพระให้ทำบุญกันตามศรัทธา 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_8
ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ในวิหารพระม้าที่เป็นบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ ด้านซ้าย-ขวา มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์คือ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ เป็นเทพที่เชื่อว่าคือท้าวจตุคามรามเทพ อันลือลั่นแห่งเมืองนคร นอกจากเทพทั้งสองแล้วที่นี่ยังมีผู้พิทักษ์อื่นๆ อาทิ ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น 

ภาพพระม้า อยู่ในวิหารพระม้าบริเวณฐานข้างบันไดทั้งสองข้าง ภาพพระม้าเป็นขนาดใหญ่ สร้างทำอย่างประณีตสวยงามในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเรื่องราวการละโลกออกแสวงหาทางธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ 

เส้นทางพระเจ้าตาก อยู่ที่วิหารทับเกษตร เป็นเส้นทางที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยมาเดินปฏิบัติธรรมที่นี่ ภายในมีพระพุทธรูปยืน-นั่ง ประดิษฐานอยู่มากมาย รวมไปถึงภาพจิตรกรรม รูปเคารพเกจิ ซึ่งหากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ามีพระพุทธรูปองค์หนึ่งนิ้วมือข้างหนึ่งมี 6 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าชู้ที่ถูกหลักเสียบไว้พร้อมกับมือที่ถูกตัด เนื่องจากไปแอบลักลอบมีชู้กับภรรยาผู้อื่น 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_9

วิหารโพธิ์ลังกา เป็นวิหารสัญลักษณ์แห่งการตื่นตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีส่วนหนึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มากไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย

พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุ ถือเป็นแหล่งรวมของดี ของหายาก(มาก)ประมาณค่าไม่ได้ จัดแสดงไว้ใน 3 วิหารใหญ่ คือ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา และวิหารคด(ต่อเติม) 

พระมหากัจจายนะ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระมหากัจจายนะ(วิหารพระแอด) มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า “พระแอดเมืองนคร” มีองค์สีทองอร่าม เชื่อกันว่าท่านสามารถดลบันดาลความสำเร็จสารพัด โดยเฉพาะการขอลูก จึงมีรูปเด็กๆ มารายงานผล ขอพรพร้อมกับการฝากเนื้อฝากตัวมากมาย  
มณฑปพระพุทธบาท เป็นมณฑปตั้งอยู่บนเนิน ภายในประดิษฐาน รอยจำลองพระพุทธบาท ยาว 74 นิ้ว กว้าง 44 นิ้ว ตรงบันไดทางขึ้นมีพระบุญมากพระพุทธรูปหินทรายที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านนิยมไปบนบานขอบุตรและโชคลาภ นอกจากนี้บนมณฑปยังเป็นจุดชมองค์พระธาตุในมุมสูงอีกด้วย 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร_10

เจดีย์ศิลาในดงหว้า-พระปัญญา เจดีย์ศิลาในดงต้นหว้าทั้ง 6 ตั้งอยู่ที่ข้างพระวิหารธรรมศาลาด้านหน้า สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวเนื่องกับผู้ทรงศักดิ์ระดับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เชื่อกันว่าอาจจะหนีราชภัยมายัง จ.นครศรีธรรมราช จึงกลายเป็นสถานบูชาถึงพระองค์ท่านมาจนถึงบัดนี้ ส่วนเจดีย์พระปัญญาตั้งอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์พระวิหารเขียน มีเรื่องเล่าว่าได้มีการผูกแทงลายห้ามไว้ว่า “ถอยหลังเข้าไปเหล็กในแทงตา หันหน้าออมากาขี้ใส่หัว” แต่มีผู้มีปัญญามาแก้ เพราะเห็นว่าเป็นคำห้ามที่ขาดเหตุผล จึงลองเดินถอยหลังเข้าไปแล้วหันหน้าออกมา จึงได้เห็นกรุสมบัติซ่อนอยู่ในหลืบเฝ้าทางเดิน จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดสอยปริศนาธรรมเรื่องกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าเชื่อด้วยเหตุประการต่างๆ นอกจากลงมือทำเองแล้วเท่านั้น